มาตรา
64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย
เพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า
ตามสภาพและพฤติการณ์
ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด
ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น
ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย
เพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า
(1)
ตามสภาพและพฤติการณ์
ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด
(2)
ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และ
(3)
ถ้าศาลเชื่อว่า
ผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น
-
(ผล) ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
ประเด็นเบ็ดเตล็ต
-
มาตรา 64 หมายถึงไม่รู้กฎหมายอาญา
หากเป็นกรณีไม่รู้กฎหมายแพ่ง ปรับ มาตรา 62 วรรค 1
-
ไม่รู้ข้อเท็จจริงแก้ตัวได้
ไม่รู้ข้อกฎหมายแก้ตัวไม่ได้
-
การแยกประเภทกฎหมาย mala
in se กับ mala prohibita
-
mala in se (wrong in themselves) ความผิดซึ่งบุคคลทั่วไปรู้สึกได้ว่าการกระทำเช่นนั้น
เป็นความผิด แก้ตัวว่าไม่รู้ ไม่ได้ / mala prohibita (wrong prohibited) ความผิดซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
บุคคลทั่วไปไม่รู้สึกว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดในตัวเองโดยตรง
แก้ตัวว่าไม่รู้ ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5333/2538
การมีเพโมลีน ไว้ในความครอบครองเพื่อขาย มิใช่เป็นความผิดในตัวเอง แต่เป็นความผิด
เพราะมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2
ซึ่งแต่เดิมจัดอยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้ขายได้
ตามสภาพและพฤติการณ์ จำเลยอาจไม่รู้ว่าการมีเพโมลีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย
เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย และจำเลยสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เช่นว่านั้นได้
ศาลย่อมลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ตาม มาตรา 64
-
ในทางปฏิบัติ
ความผิดซึ่งควรจะรู้กันอยู่ทั่วไป จำเลยอ้างไม่รู้ว่าเป็นความผิด ไม่พ้นความรับผิด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 187/2530 มีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
และพกพาอาวุธปืนนั้นไปในทางสาธารณะ ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 611/2545
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท
1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่
135 (พ.ศ. 2539) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น
โจทก์ไม่จำต้องแนบประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาได้
คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว / ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่
135 (พ.ศ. 2539) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่
16 สิงหาคม 2539 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด
60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงดังกล่าว
จึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่าทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว
ขอให้การรับสารภาพ จึงถือว่าจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย
เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้
-
กรณีอ้างไม่รู้ข้อเท็จจริง
อันนำไปสู่ข้อกฎหมาย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3009-3010/2537 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ป่า
ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และทางราชการได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงไว้
ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนันท้องที่ และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้านท้องที่นั้นตามมาตรา
9 แห่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.
2507 แล้ว ย่อมมีผลให้ที่ดินในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติทันที
จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุ เป็นป่าสงวนแห่งชาติหาได้ไม่
(เป็นกรณีอ้างไม่รู้ข้อเท็จจริง อันนำไปสู่ข้อกฎหมาย)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3818/2537 จำเลยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดอยู่ในขณะที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง
เป็นสมาชิกสภาเทศบาล โดยไม่ยอมลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 21 (7) และมาตรา 65 แม้จำเลยได้ปรึกษา
ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น ก่อนแล้วว่าจำเลยสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาเทศบาลได้
เพราะสภาพการเป็นสมาชิกสภาจังหวัด ของจำเลยจะสิ้นสุดก่อนวันเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิด
ทางอาญา โดยแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64 และจะอ้างว่าได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 ประกอบด้วยมาตรา 59 ก็ไม่ได้
-
กรณีการอ้างไม่รู้กฎหมายแพ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 4094/2528 เมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่า
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าบุคคลทุกคนได้รู้ถึงบทบัญญัตินั้นแล้ว
ผู้ใดอ้างว่าไม่รู้ จะต้องแสดงให้เห็นพฤติการณ์เฉพาะตัวเป็นพิเศษ โดยแน่ชัดว่าตนไม่รู้
และไม่อยู่ในฐานะที่อาจรู้ได้เช่นนั้น
มาตรา
65 ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ
หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต
หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
องค์ประกอบ
-
มีการกระทำ (1.คิด
2.ตัดสินใจ และ 3.ลงมือ
) + กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
-
กระทำในขณะ
-
(1.1) ไม่สามารถรู้ผิดชอบ
หรือ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต
หรือจิตฟั่นเฟือน
-
(ผล) ไม่ต้องรับโทษ
-
(1.2) ผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
หรือ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
-
(ผล) ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
ความหมาย
-
ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หมายถึง
ไม่สามารถรู้ได้ว่าการกระทำนั้นผิดศีลธรรม ไม่อาจแยกแยะตามหลักศีลธรรมได้
-
ไม่สามารถบังคับตนเองได้ หมายถึง
ผู้กระทำรู้ว่าการกระทำนั้นผิดศีลธรรม แต่ไม่อาจบังคับใจตนเองได้
-
จิตบกพร่อง หมายถึง
ลักษณะของผู้ที่สมองไม่เจริญเติบโตตามวัย หรือบกพร่องมาแต่กำเนิด
-
โรคจิต หมายถึง
ความบกพร่องแห่งจิตที่เกิดจากโรค
-
จิตฟั่นเฟือน หมายถึง ผู้ที่มีความหลงผิด
ประสาทหลอน และแปลผิด
-
กรณีถึงขั้น
ไม่มีการกระทำโดยเจตนา ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคแรก จึงไม่ต้องอ้างเหตุงด
หรือลดโทษ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 8743/2544
ปัญหาว่า
จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่
ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา
ตาม ป.อ. มาตรา 59 หรือไม่ด้วย / จำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้เป็นผิดกฎหมาย
กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา
65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ
ทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด
การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตาม ป.อ.มาตรา
59 (อ. เกียรติขจร หากถือว่าจำเลยไม่มีการกระทำ ก็ย่อมไม่มีความผิดอยู่แล้ว
โดยไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องเจตนาแต่อย่างใด)
-
กรณีไม่สามารถรู้ผิดชอบ
หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่
1611/2522 (สบฎ เน 5863) ผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่าจำเลยวิกลจริตมา
4 ปี ลักปืนและยิงคน ขณะทำผิดไม่รู้ผิดชอบ รับฟังตาม
ม 65 ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 371/2527
ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาท
ขณะเกิดเหตุอาการป่วยเป็นโรคจิตจากพิษสุรากำเริบขึ้นอีก
มีอาการประสาทหลอนหวาดระแวงกลัวคนจะทำร้าย
ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาอยู่กินกันมาด้วยความเรียบร้อย ไม่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน
จึงพาจำเลยไปรักษาที่บ้านบิดาจำเลย ขณะนั่งคุยกันอยู่ที่แคร่ไม้ข้างล่าง
จำเลยใช้มีดเชือดคอและฟันทำร้ายผู้ตายมีคนพบจำเลยนั่งงุนงงอยู่ใกล้ ๆ
ดังนี้จำเลยได้กระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ
ไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะโรคจิตจากพิษสุรา จำเลยไม่ต้องรับโทษในความผิดตาม
ป.อ. ม.288 ตาม ม. 65 วรรคแรก
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3106/2535 จำเลยเป็นคนปัญญาอ่อน
กระทำผิดโดยใช้อวัยวะของจำเลย ถูที่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย
แต่ได้ความจากแพทย์ผู้รักษาจำเลยว่า จำเลยเป็นโรคคริทิน
ซึ่งเกิดจากการขาดไทรอยด์ฮอร์โมนมาแต่กำเนิด การเจริญเติบโตทางกายและสติปัญญาช้ากว่าอายุจริง
จำเลยเดินได้เมื่ออายุ 7 ปี พูดประโยคได้เมื่ออายุ 9 ปี เมื่ออายุ 11 ปี 11
เดือน มีความสามารถทางสติปัญญาเท่ากับเด็ก 5 ปี มีระดับไอคิว
ต่ำกว่าเด็กปกติเรียนซ้ำชั้นประถมที่ 1 อยู่เป็นเวลา 5 ปี
จากการตรวจก่อนเกิดเหตุสองเดือน สติปัญญายังช้า แพทย์ยืนยันว่า จำเลยไม่รู้จักเหตุผล
ไม่มีการวางแผน ไม่มีความรับผิดชอบ จะต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิต
ไม่มีทางหายขาดได้
ทั้งปรากฏว่าจำเลยไม่ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ดังนี้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ เพราะจิตบกพร่องด้วยป่วยเป็นโรคปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิด
จึงไม่ต้องรับโทษ
-
กรณียังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
ตามประมวลกฎหมายอาญา.มาตรา 65 วรรคสอง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 331/2513
จำเลยคลอดบุตรแล้วเป็นโรคบ้าเลือด มีอาการผิดปกติไปจากคนธรรมดา คุ้มดีคุ้มร้าย
ซึ่งถือว่าเป็นโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนบางขณะ
ไม่มีความรู้สึกผิดชอบเยี่ยงบุคคลธรรมดา แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
จำเลยจึงต้องรับผิดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 733/2521 จำเลยอายุ 19 ปี เป็นโรคจิตเภท
ลักรถยนต์ในเวลารู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลลดโทษตาม ป.อ.ม.65 วรรค 2 คงจำคุก 8 เดือน
และรอการลงโทษ
-
คำพิพากษาฎีกาที่
2182/2522 (สบฎ เน 5863) จำเลยมีโรคจิต
ยิงผู้ตาย แต่ยังรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลจำคุก 10 ปี
ม 288+65 ว 2
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3024/2525
ก่อนเกิดเหตุจำเลยหวาดกลัวว่า จะถูกเพื่อนยิง จึงขังตัวเองในห้องมา 4 วัน
โดยอดอาหารและไม่ได้หลับนอนตลอด 4 วัน ขณะเกิดเหตุจำเลยเห็นภาพหลอน
มีปากกระบอกปืนมาจ้องตามช่องไม้แตก มีเสียงดังแช็ก ๆ
จำเลยจึงจุดไปเผาสิ่งของในห้องให้เกิดควัน แล้วกระโดดหนีออกทางหน้าต่าง
เมื่อพบตำรวจก็บอกว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง
แม้ไม่เป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
อันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ.ม.65 วรรคแรก แต่ก็แสดงว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตใจ
หรือจิตบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม
ม.65 วรรคสอง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2543/2528
จำเลยเคยถูกไม้นั่งร้านล้มทับศีรษะ และเคยเป็นลมชัก คืนเกิดเหตุจำเลยนอกไม่หลับ
เนื่องจากได้ยินเสียงแว่วว่าจะมีคนมาทำร้าย จึงลุกมานั่งที่ประตูทางเข้า
ถือมีดปลายแหลมไว้ป้องกันตัว พร้อมกับเรียกให้ภริยามาช่วยดึงประตู
และร้องเรียกให้คนช่วย เมื่อจำเลยแทงผู้เสียหายแล้ว จำเลยมิได้หลบหนี
ภริยาพาจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาล แสดงว่าจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีจิตบกพร่อง
ศาลมีอำนาจที่จะนำ ป.อ. ม.65 วรรคสอง
กำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3461/2535
จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิต หรือมีจิตบกพร่องหวาดระแวงว่าโจทก์ร่วมเป็นคนร้าย
ที่จะมาฆ่าจำเลย
จึงได้ใช้มีดแทงโจทก์ร่วมไปและจากคำเบิกความของนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวช
เบิกความยืนยันว่าลักษณะอาการประสาทของจำเลยตามหลักวิชาการ
จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่ภรรยาของจำเลยก็เบิกความว่า ปกติจำเลยสามารถทำงานได้
แต่เวลามีอาการจำเลยจะมีลักษณะกลัวคน จำเลยนั่งซึมนานประมาณ 10 วันจึงเกิดเหตุ
หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยไม่ได้หลบหนี คงนั่งซึมจนถูกจับตัวส่งตำรวจดังนี้
พฤติการณ์ของจำเลยก่อนและหลังการกระทำผิดดังกล่าว ไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิด
เพราะไม่สามารถบังคับตนเองได้ ถือว่าจำเลยกระทำผิดขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5895/2540 จำเลยมีอาการป่วยทางจิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์คว่ำ จำเลยเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลติดต่อกันนานประมาณ
7 ปี แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการที่แผนกการเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดได้ตามปกติ
แสดงว่าบางขณะจำเลยมีอาการคุ้มดีคุ้มร้ายบางขณะก็เป็นปกติ คืนเกิดเหตุจำเลยเคาะประตูเรียก
ป. และโวยวายให้คนช่วยหาคนที่เอามดแดงไปใส่ในรองเท้าจำเลยและทำลายข้าวของในห้องพักของจำเลย
เมื่อจำเลยไปค้นห้องพักผู้ตายพบมีดและปืนของผู้ตาย จำเลยหยิบมีดและปืนออกจากห้องและเดินตามหาผู้ตายเมื่อพบผู้ตาย
จำเลยพูดว่า "เฮ้ยมึงว่ากูกล้ายิงไหม" แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทันที นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยได้พูดกับ
ป. ว่า"เป็นไงเพื่อน มึงวิ่งหนีกูทำไม" พฤติการณ์ของจำเลยก่อนและหลังกระทำความผิดเช่นนี้
แสดงให้เห็นว่าภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิด ยังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
ตามประมวลกฎหมายอาญา.มาตรา 65 วรรคสอง
-
กรณีไม่เข้าเหตุตามมาตรา 65
-
คำพิพากษาฎีกาที่
2402/2522 (สบฎ เน 5863) หญิงยิงชายเพราะถูกด่า
เกิดโทสะขาดความยั้งคิด ไม่เป็นเหตุตาม มาตรา 65 วรรค
1
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 175/2527
จำเลยไปขอเงินผู้ตายซึ่งเคยเป็นภรรยามีบุตรด้วยกัน แต่เลิกกันแล้ว
ผู้ตายให้ไปเอาที่บ้าน จำเลยขู่จะฆ่า มารดาผู้ตายห้ามก็ไม่ฟัง
จำเลยตีและเตะจนผู้ตายล้มลงไปในนามีน้ำขัง จำเลยตามไปกดคอจนตายเพราะขาดอากาศหายใจ
ดังนี้เป็นการข่มเหงรังแกเอาแก่สตรี
โดยปราศจากเมตตาปรานีและโดยไม่มีเหตุอันน่าเห็นใจแต่อย่างใด
กระทำต่อหน้าพยานทั้งถูกจับกุมได้ในทันทีหลังเกิดเหตุ แม้รับสารภาพ
ก็เป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1816/2541
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธ
ขู่บังคับในการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย
แม้ในชั้นพิจารณาแพทย์เบิกความว่าจำเลยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2532
และตรวจพบว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภท ขณะตรวจพบจำเลยมีอาการวิตกกังวล
ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่อง จากสภาพของจำเลย ขณะตรวจสามารถวินิจฉัยได้ว่าจำเลยเป็นโรคทางจิต
และไม่สามารถต่อสู้คดีก็ตาม แต่เมื่อการที่แพทย์มาเบิกความเป็นพยานดังกล่าว
เป็นการพิจารณา เพื่อชี้ขาดว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา
14 และไม่ปรากฏความเห็นของแพทย์ที่ตรวจอาการของจำเลยระหว่างเกิดเหตุ
อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงต่อหน้าศาลว่าจำเลยสามารถถามตอบต่อศาลได้
ความเห็นของแพทย์ดังกล่าว
จึงยังไม่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต
หรือจิตฟั่นเฟือน อันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตาม มาตรา 65 วรรคหนึ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 7151/2541 ก่อนเกิดเหตุ 2 ถึง 3
วัน จำเลยดูข่าวโทรทัศน์ที่คนร้ายทำทีเข้าไปซื้อทอง
แล้วชักอาวุธปืนออกมาปล้นเอาทองหลบหนีไปได้ จึงคิดวางแผนเอาอย่างบ้าง
โดยไปยืมรถจักรยานยนต์จาก ก. ใช้สก๊อตเทปปิดป้ายทะเบียนไว้
เพื่อไม่ให้จำหมายเลขทะเบียนได้ และเอามีดคล้ายมีดปังตอที่มารดาใช้หั่นผัก ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พกไว้ที่เอวด้านหลัง
แล้วขับรถจักรยายนต์หาร้านขายทองที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ
และมีผู้หญิงเป็นคนขาย ทำทีเข้าไปซื้อสร้อยคอทองคำในร้านของผู้เสียหาย
เมื่อได้สร้อยแล้วจำเลยชักมีดขึ้นมาชูขู่คนในร้าน จากนั้นนำสร้อยคอทองคำไปขาย และเปลี่ยนเพิ่มสายสร้อยข้อมือของจำเลย
ส่วนเงินที่ได้มาได้พาพรรคพวกไปเลี้ยง ไปเที่ยวและเล่นการพนัน พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำผิด
โดยมีแผนการอันเนื่องมาจากความโลภ และเอาเงินที่ได้จากการขายทรัพย์ไปเที่ยวเตร่
หาความสำราญเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดอื่นโดยทั่ว ๆ ไป แม้จำเลยจะสมองฝ่อ
เพราะเคยถูกรถยนต์เฉี่ยวชนศีรษะกระแทกพื้น มีผลทำให้เชาวน์ปัญญาลดลง
อารมณ์หงุดหงิดโมโหง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจเช่นคนทั่วไปอยู่บ้าง
แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะฟังได้ว่า ขณะกระทำผิดจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบ
หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง
มาตรา
66 ความมึนเมาเพราะเสพย์สุรา
หรือสิ่งเมาอย่างอื่น จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65
ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา
หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
ความมึนเมาเพราะเสพย์สุรา
หรือสิ่งเมาอย่างอื่น จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65
ไม่ได้
-
เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดย
-
(1.1) ผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา
หรือ
-
(1.2) ได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์
และ
-
(2.1) ได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ
หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
-
(ผล)
ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น
-
(2.2) แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
-
(ผล) ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
องค์ประกอบเหตุยกเว้นโทษ
หรือลดโทษ
-
มีการกระทำ (1.คิด
2.ตัดสินใจ และ 3.ลงมือ
) + กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
-
กระทำในขณะ
-
(1.1) ผู้กระทำความผิด
เพราะมึนเมาเนื่องจาก (1.2) ผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา
หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ ถึงขั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือ
ไม่สามารถบังคับตนเองได้
-
(ผล) ไม่ต้องรับโทษ
-
(2.1) ผู้กระทำความผิด
เพราะมึนเมาเนื่องจาก (2.2) ผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา
หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง
หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
-
(ผล) ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
-
การอ้างเหตุมึนเมา
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 617/2526
จำเลยสมัครใจดื่มสุราเอง และขณะกระทำความผิด ก็มีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดี
จะอ้างว่าได้กระทำผิดไปด้วยความไร้สติ ไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้
อันเนื่องมาจากดื่มสุรา เป็นข้ออ้างให้ลดหย่อนผ่อนโทษตาม ม.66 หาได้ไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 24/2533
แม้จำเลยจะยิงผู้เสียหาย โดยไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลคือความตาย
เพราะผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเพื่อนกัน และยิงในขณะที่จำเลยมึนเมาสุรา
แต่การที่จำเลยยกอาวุธปืนขึ้นเล็ง แล้วยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะกระชั้นชิด จำเลยเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงจะต้องไปถูกผู้เสียหาย
จำเลยจะอ้างความมึนเมามา เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความผิดไม่ได้ /
จำเลยยิงผู้เสียหายในระยะใกล้กระสุนปืนถูกที่ท้อง
ต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดหากแพทย์รักษาไม่ทัน ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้
เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 691/2541 ก่อนเกิดเหตุจำเลยเสพยาเสพติดให้โทษ
เมื่อยาเสพติดดังกล่าวออกฤทธิ์ทำให้จำเลยเหนื่อย และเพลียคิดว่าตัวเองใกล้จะตาย
จำเลยจึงวางแผนฆ่าตัวเองและบุตรทั้งสาม โดยเขียนจดหมายลาตาย พร้อมกับเตรียมหายาฆ่าแมลงชนิดอันตรายถึงชีวิตผสมกับข้าวให้ผู้ตายทั้งสามกิน
เมื่อผู้ตายทั้งสามไม่กินข้าวที่ผสมยาฆ่าแมลงดังกล่าว
จำเลยก็ใช้เหล็กชะแลงตีผู้ตายสองคน และใช้เข็มขัดรัดคอผู้ตายอีกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
พร้อมจุดไฟเผาผู้ตายทั้งสามและเผาตัวจำเลย เพื่อให้ถึงแก่ความตายไปพร้อมกันนั้น
แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยมีเจตนาเดียวคือต้องการให้ผู้ตายทั้งสามและจำเลยถึงแก่ความตายพร้อมกัน
จึงเป็นความผิดกรรมเดียว / การเสพสุรา หรือสิ่งเมาอย่างอื่น อันผู้กระทำผิดจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตาม
ป.อ. มาตรา 66 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดได้เสพโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา
หรือถูกข่มขืนใจให้เสพ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้สึกผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
ปรากฏว่าจำเลยสมัครใจเสพยา ซึ่งจำเลยเคยเสพก่อนเกิดเหตุหลายครั้ง
จำเลยย่อมทราบดีว่ายาเสพติดดังกล่าวทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งได้ จำเลยยังเบิกความยอมรับว่าขณะที่จำเลยฆ่าบุตรทั้งสามคนนั้นบางครั้งรู้สึกตัว
บางครั้งไม่รู้สึกตัว ที่จำเลยคลุ้มคลั่งฆ่าบุตรทั้งสาม น่าจะเกิดจากจำเลยเสพยาเสพติดเข้าไป
เช่นนี้ จำเลยจะยกข้อแก้ตัว โดยอ้างว่าได้กระทำผิดโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เสพนั้น จะทำให้มึนเมา
และได้กระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้สึกผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้นั้นหาได้ไม่
-
การนำเหตุมึนเมา
มาประกอบการวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หรือทำร้าย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1639/2509
มีดที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหาย ยาวทั้งตัวและด้ามประมาณคืบเศษ แผลที่แทงลึก 8
เซ็นติเมตร เป็นมีดเล็กไม่ร้ายแรง จำเลยเมาสุรามาก จึงแทงไป 1 ที แม้ถูกที่หน้าอก
ก็หาได้เกิดอันตรายร้ายแรงไม่ ฟังไม่ถนัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
(ความมึนเมาเพราะเสพสุรา อ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ แต่ความมึนเมาดังกล่าว
นำมาพิจารณาประกอบพฤติการณ์อื่น ชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้ ว่ามีเจตนาฆ่า
หรือทำร้ายร่างกาย)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3863/2525
จำเลยเมาสุราได้ยิงปืนนัดแรกที่ห้องพัก นัดที่สองยิงขึ้นฟ้า แล้วลดปืนลง
กระสุนปืนนัดที่สาม ก็ลั่นถูกผู้เสียหายที่เอว
เมื่อเป็นปืนลูกโม่ที่การยิงจะต้องเหนี่ยวไกทีละนัด กระสุนปืนนัดที่สามจึงลั่น
เพราะเจตนายิง แต่เป็นขณะเมาสุรา ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
ไม่มีเหตุเพียงพอจะคิดฆ่า ทั้งมิได้จ้องยิงตามปกติ และในขณะอยู่ห่างกัน 2 เมตร
ผู้เสียหายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 30 วัน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.297 (8) มิใช่เป็นความผิดตาม
ม.300 (ขณะยิงนัดแรก เป็นเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้
จึงควรปรับด้วยเจตนาฆ่า ไม่ถูกผู้เสียหาย ควรต้องรับผิด ตาม ม 288+80 (ต้องดูพฤติการณ์ในคดี)
ส่วนนัดที่สามลั่นถูกผู้เสียหาย โดยมิได้เจตนายิงเพื่อทำร้ายหรือฆ่า ควรต้องรับผิด
ม 300 แล้ว ใช้ ม 90)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น